ความแตกต่างระหว่าง Translation และ Transcreation

เนื้อหาหรือ Content บนเว็บไซต์ถูกเขียนขึ้นมาเพื่อให้ผู้เยี่ยมชมเว็บไซต์ได้กระทำการบางอย่างตามวัตถุประสงค์ที่ได้กำหนดไว้ไม่ว่าจะเป็นการซื้อสินค้าหรือบริการก็ตามแต่การจะทำให้เนื้อหาบนเว็บไซต์โดนใจผู้อ่านหรือลูกค้ามุ่งหวังเป็นอีกประเด็นที่หลายคนให้ความสนใจ 

ด้วยเหตุนี้ องค์กรธุรกิจหลายแห่งจึงได้ว่าจ้างมืออาชีพด้านรับเขียน Content และรับแปลเอกสารอย่างศูนย์การแปลทีไอเอสฯ เพื่อคิด สร้างสรรค์เนื้อหา เรียบเรียงสำนวนภาษา คำพูด ให้โดนใจกลุ่มเป้าหมายเฉพาะกลุ่มของธุรกิจ ผู้ให้บริการมืออาชีพนั้นพยายามที่จะศึกษาทำความเข้าใจในความต้องการของผู้ว่าจ้างและกลุ่มเป้าหมายโดยพยายามที่จะรังสรรค์และ/หรือแปลเนื้อหา คิดคำโปรย โดยคำนึงถึง Mood & Tone ระดับภาษาที่ใช้ และประเด็นสำคัญอื่นๆ เพื่อให้เนื้อหาหรือ Content ที่ปรากฎบนเว็บไซต์นั้นได้บรรลุวัตถุประสงค์ทางธุรกิจที่กำหนดขึ้น

“การแปลภาษาหรือการแปลเอกสาร” นั้นครอบคลุมบริการหลายๆ ประการด้านภาษาในคราวเดียวกัน แต่เมื่อเอ่ยถึงในมุมมองด้านการตลาดมักจะหมายถึงการแปลเนื้อหาเพื่อขยายตลาดไปยังกลุ่มผู้ซื้อมุ่งหวังต่างประเทศ โดยที่การแปลเอกสารนั้นมิใช่จำกัดเพียงการแปลเอกสารในรูปแบบของโบรชัวร์ หรือสื่อสิ่งพิมพ์เท่านั้น แต่ยังหมายความรวมถึงการแปล Content ทุกประเภทไม่ว่าจะเป็นออนไลน์หรือออฟไลน์ไปเป็นภาษาปลายทางอีกภาษาหนึ่งด้วย

TRANSCREATION คืออะไร

Transcreation เกิดขึ้นเมื่อนักแปลทำการแปลโดยใช้ความคิดของตนเองในการสร้างสรรค์ เสริมหรือเพิ่ม เติมแต่ง ลดทอน ตัดเนื้อหาต้นฉบับบางส่วนของเอกสารต้นฉบับออกเพื่อให้คำแปลที่ออกมานั้นมีความโดดเด่น สละสลวย จนสามารถดึงดูดความสนใจของผู้อ่านเพื่อสร้างความประทับใจในสินค้าหรือบริการที่นำเสนอ

การแปลแบบ Transcreation มักใช้กับการแปลชื่อผลิตภัณฑ์ งานแปลเนื้อหาโฆษณา สโลแกน คำโปรย ซึ่งมักเป็นเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับด้านการตลาดของแต่ละแบรนด์โดยเฉพาะ

นักแปลที่สามารถแปลงานในลักษณะเช่นนี้ได้เรียกว่า Transcreators มักมีทักษะและความคิดสร้างสรรค์ที่น่าอัศจรรย์ รวมทั้งเป็นที่รอบรู้ในศาสตร์และศิลป์ในการเลือกใช้ถ้อยคำหรือประโยคที่สร้างสรรค์จนทำให้ผู้อ่านเกิดความประทับใจ การแปลแบบ Transcreation นั้นสามารถเกิดขึ้นได้ผ่านการระดมความคิดหรือทำงานร่วมกันระหว่างนักแปลมากกว่า 2 คนขึ้นไปก็ได้เพื่อให้ได้เนื้อหาที่โดดเด่น อ่านแล้วโดนใจกลุ่มเป้าหมายมากที่สุด

TRANSLATION คืออะไร

โดยทั่วไปแล้ว นักแปลคือผู้ที่แปลหรือถ่ายทอดเนื้อหาจากภาษาหนึ่งไปสู่อีกภาษาหนึ่งโดยที่ความหมายของภาษาปลายทางมีความเหมือนหรือใกล้เคียงกับต้นฉบับภาษาเดิมมากที่สุดทั้งเนื้อหา Mood & Tone สไตล์การเลือกใช้คำและประโยค การแปลเอกสารลักษณะเช่นนี้เป็นการแปลภาษาที่ถ่ายทอดทั้งเนื้อหา สำนวน อารมณ์ขัน วลี คำสแลง รวมทั้งประเด็นด้านวัฒนธรรมเพื่อให้โดนใจกลุ่มเป้าหมายในอีกภาษาหนึ่ง การแปลโดยทั่วไปมักคงรูปแบบเนื้อหาโดยมิได้มีการเปลี่ยนแปลง เพิ่มเติม หรือตัดทอนเนื้อหาดั้งเดิมดังเช่นการแปลแบบ Transcreation การแปลโดยทั่วไปนั้นครอบคลุมหลากหลายด้าน ได้แก่ การแปลเนื้อหาเว็บไซต์ คำอธิบายสินค้าหรือบริการ โบรชัวร์ สื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ เนื้อหาบนโซเชียลมีเดีย อาทิ Facebook, Twitter รวมถึงเนื้อหาบนคลิปวิดิโอต่างๆ อย่าง YouTube อีกด้วย

 

การแปลสองประเภทนี้เหมือนกันอย่างไร

การแปลทั้งแบบทั่วไปและการแปลแบบครีเอทีฟนั้นต่างเกี่ยวข้องกับการใช้ทักษะ ความรู้ ความชำนาญ รวมถึงความคิดสร้างสรรค์ แต่การแปลเนื้อหาด้านมาร์เก็ตติ้งนั้นมักจะมีความครีเอทีฟมากกว่า เพราะว่าวัตถุประสงค์ของการแปลคือการดึงดูดผู้อ่านเป้าหมายให้มีความสนใจในสินค้าหรือบริการ หรือเพื่อจูงใจให้มีการซื้อผลิตภัณฑ์ หรือเพื่อเป็นการสร้างแบรนด์รอยัลตี้หรือความภักดีต่อตราสินค้าหนึ่งๆ ซึ่งรวมถึงการบอกต่อไปยังผู้อื่นอีกด้วย

การแปลทั้งสองประเภทดำเนินการโดย

  • นักแปลผู้มีความรอบรู้ทั้งภาษาต้นทางและภาษาปลายทางเป็นอย่างดีในหัวข้อที่ตนมีความถนัด
  • นักแปลผู้ที่มีความรอบรู้เชิงวัฒนธรรมที่เข้าใจแนวคิดหรือเนื้อหาที่ซ่อนอยู่ในต้นฉบับและสามารถถ่ายทอดหรือแปลเป็นภาษาปลายทางได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • นักแปลผู้มีทักษะในการเขียนและการเรียบเรียงคำแปล นอกเหนือไปจากทักษะการแปลตามปกติ
  • นักแปลผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์ในการที่จะสามารถตีความและถ่ายทอดสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์

แต่โดยทั้วไปแล้ว นักแปลแบบ Transcreators นั้นมักมีประสบการณ์ ทักษะความรู้ความชำนาญที่สูงกว่านักแปลทั่วๆ ไปและมีหน้าที่รับผิดชอบสูงกว่าต่อผลงานแปลที่ออกมา ทั้งยังมีอิสระที่จะรังสรรค์คำแปลภาษาปลายทางที่ตนแปลให้โดนใจกลุ่มผู้อ่านเป้าหมายอีกด้วย

ภาพประกอบ: Pixabay

คุณสัจจา
คุณสัจจา
ผู้ก่อตั้ง ผู้บริหารและผู้จัดการทั่วไปของศูนย์การแปลนานาชาติทีไอเอส ทรานสเลชั่น ผู้ที่มีประสบการณ์ในแวดวงการแปลมานับทศวรรษ คุณสัจจาเป็นผู้เชื่อในหลักการ "Lifelong Learning" การเรียนรู้ตลอดชีวิต รวมทั้งเป็นผู้ที่ชอบไขว่คว้าหาความรู้ด้านต่างๆ บนโลกออนไลน์อย่างไม่หยุดหย่อน