เครื่องมือช่วยแปล (CAT Tools) คืออะไร ต่างจาก Machine Translation อย่างไรบ้าง

เครื่องมือช่วยแปล (CAT Tools) คืออะไร ต่างจาก Machine Translation อย่างไรบ้าง

CAT TOOLS VS. MACHINE TRANSLATION

หากธุรกิจต้องการขยายฐานลูกค้าไปยังต่างประเทศเพื่อดึงดูดให้พวกเขามาซื้อสินค้าหรือบริการที่นำเสนอนั้น เป็นสิ่งสำคัญอย่างมากที่คุณจะต้องแปลเนื้อหาหรือบทความไม่ว่าจะปรากฎในเว็บไซต์หรือโซเชียลมีเดียต่างๆ เป็นภาษาอังกฤษ หรือภาษาปลายทางอื่นๆ ที่ลูกค้าเป้าหมายของคุณสามารถอ่านทำความเข้าใจได้ อาทิ ภาษาจีน ภาษาญี่ป่น ภาษาอาหรับ เป็นต้น

ในการแปลหรือการถ่ายทอดความหมายจากภาษาหนึ่งไปสู่ภาษาหนึ่งนั้นสามารถทำได้ผ่าน 2 วิธีการหลักๆ คือการใช้ 1. โปรแกรมหรือเครื่องมือช่วยแปล (CAT Tool) 2. Machine Translation ทั้ง 2 วิธีนั้นต่างต้องใช้ทั้งฮาร์ดแวร์คือเครื่องคอมพิวเตอร์และซอฟท์แวร์ด้วยกันทั้งคู่ แต่กระบวนการนั้นแตกต่างกันอย่างมาก ในวันนี้ ศูนย์การแปลทีไอเอสฯ จะชี้ให้เห็นถึงข้อดี ข้อเสีย ของการใช้งานทั้งสองประเภท รวมทั้งแนะนำด้วยว่าวิธีการแบบไหนให้ผลลัพธ์ที่คุณต้องการ

 

เครื่องมือช่วยแปล (CAT Tools) คืออะไร ?

โปรแกรมช่วยแปล (CAT Tool) เป็นโปรแกรมที่ช่วยด้านการแปลสำหรับนักแปลมืออาชีพทั้งหลาย แม้ว่าจะมีการนำเอาคอมพิวเตอร์และซอฟท์แวร์มาช่วยในการแปลก็ตาม คำแปลทั้งหมดที่เกิดขึ้นเป็นคำแปลที่สร้างสรรค์หรือผ่านการแปลมาจากมนุษย์ทั้งสิ้น (Human Translation) โปรแกรมช่วยแปลจะไม่มีการแปลข้อความโดยอัตโนมัติ อย่างเช่น แปลเอกสาร 1 หน้ากระดาษภายใน 1 คลิกแต่อย่างใด คำแปลล้วนถูกป้อนเข้าสู่โปรแกรมช่วยแปลโดยนักแปลที่เป็นมนุษย์จริงๆ ทั้งสิ้น

แล้วโปรแกรมช่วยแปล (CAT Tool) ทำงานอย่างไร เรามาดูกัน

  • ลำดับแรก โปรแกรมช่วยแปลจะทำการแยกต้นฉบับออกมาเป็นประโยคๆ หรือ segment โดยอาจจัดต้นฉบับให้อยู่คอลัมน์ด้านซ้าย และมีช่องว่างสำหรับป้อนคำแปลในด้านขวา ดังเช่น โปรแกรม SDL Trados Studio เป็นต้น
  • เมื่อผู้แปลป้อนคำแปลเข้าไป โปรแกรมจะทำการจับคู่ประโยคต้นทางและประโยคปลายทางเป็น 1 คู่ประโยค (1 TU: Translation Unit) และเมื่อแปลไปเรื่อยๆ หากโปรแกรมเจอประโยคเดิมที่เคยแปลไปแล้วก่อนหน้านี้ ตัวโปรแกรมจะดึงคำแปลจากฐานข้อมูลคำแปลมาให้โดยอัตโนมัติเพื่อให้นักแปลทำการตรวจสอบแก้ไขได้ตามความเหมาะสม
  • ข้อมูลที่ถูกแปลแล้วนั้นจะถูกเก็บบันทึกไว้ในฐานข้อมูลที่เรียกว่า “หน่วยความจำการแปล / TM: Translation Memory” เมื่อใดก็ตามที่นักแปลต้องการนำ TM มาใช้งานอีกครั้งในงานแปลชิ้นถัดๆ ไปก็สามารถเรียกดูคำแปลจาก TM ได้อีกด้วย ซึ่งนอกจากทำให้การแปลรวดเร็วยิ่งขึ้นแล้ว  โปรแกรมช่วยแปลยังช่วยให้คำแปลมีความสอดคล้องสม่ำเสมอของคำแปลโดยลดข้อผิดพลาดจากการแปลประโยคต้นทางเดิมโดยใช้คำแปลที่แตกต่างกันทั้งที่ต้นฉบับเหมือนๆ กัน อีกด้วย

 

ประวัติของเครื่องมือช่วยแปล (CAT Tools)

จากบล็อกของกลุ่มนักแปลชาวอาหรับในบทความที่ชื่อว่า CAT Tools History, Advantages & Disadvantages เครื่องมือในการแปลนั้นเกิดขึ้นในช่วงระหว่างสงครามเย็น เนื่องจากว่ามีความจำเป็นอย่างมากในการแปลข้อมูลขนาดมหึมามหาศาลด้วยความรวดเร็ว ดังนั้น หน่วยงานลับจึงได้ใช้จ่ายเงินจำนวนมากในการสร้างเทคโนโลยีเพื่อให้การแปลเป็นไปได้ด้วยความรวดเร็วและถูกต้อง สหรัฐอเมริกาและรัสเซียเป็นประเทศแรกๆ ที่ได้ทำการทดลองและคิดค้นโปรแกรมการแปลโดยอัตโนมัติ ซึ่งเครื่องมือช่วยแปลในช่วงแรกๆ คือ ระบบนักแปล (System Translator: Systran ) และ ระบบช่วยเหลือด้านการแปล (Translation Support System:TSS)

ในช่วงยุคปี 90 นั้น การนำเสนอเครื่องมือช่วยแปลเข้าสู่ท้องตลาดนั้นเป็นไปได้ด้วยความยากลำบาก เพราะเนื่องจากราคาที่แพงแล้ว อุตสาหกรรมด้านการแปลยังถือว่าอยู่ในช่วงตั้งไข่เท่านั้น แต่ทุกวันนี้ ด้วยระบบอินเตอร์เน็ท โปรแกรมช่วยแปลได้กลายเป็นเครื่องมือด้านการแปลที่จำเป็นสำหรับนักแปลมืออาชีพระดับโลกทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานแปลทางด้านเทคนิค

 

ศูนย์การแปลทีไอเอส ฯ เป็นตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการของโปรแกรม SDL Trados Studio ประจำประเทศไทย

 

ข้อดีและข้อจำกัดของการใช้โปรแกรมช่วยแปล

สิ่งที่เป็นประโยชน์เด่นชัดของการใช้โปรแกรมช่วยแปลนั้นคือสปีดความเร็วในการแปลจะเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากอันช่วยการแปลเอกสารชุดใหญ่นับร้อยนับพันหน้ามีความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น เพราะว่าโปรแกรมช่วยแปลจะช่วยจัดเก็บคำแปลของประโยคต้นทางและประโยคปลายทางเข้านับแสนนับล้านประโยคไว้ในเป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ในระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งจะช่วยให้สามารถผลิตงานแปลที่มีความสอดคล้องกันของคำแปลได้มากขึ้น อันทำให้คุณภาพของงานแปลโดยรวมดีมากขึ้นตามไปด้วย นอกจากนี้เรายังสามารถแบ่งปันฐานข้อมูลคำแปลให้กับนักแปลภายในทีมงานไม่ว่าจะอยู่ภายในสายงานเดียวกันหรือต่างฝ่ายต่างแผนกก็ตาม

อย่างไรก็ตาม โปรแกรมช่วยแปลก็เหมือนดังเช่นซอฟท์แวร์ตัวอื่นที่อาจมีข้อผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ เกิดขึ้นได้บ้าง เช่น คำแปลที่ถูกต้องสำหรับประโยคหนึ่งๆ อาจไม่เหมาะสมที่จะมาใช้กับอีกบริบทหนึ่งก็เป็นได้ สิ่งนี้จะเกิดขึ้นกับงานแปลชุดใหญ่เป็นร้อยเป็นพันหน้าขึ้นไป นั่นเป็นเหตุผลที่นักแปลหรือทีมงาน editor จำเป็นต้องทำการตรวจสอบความถูกต้องในภาพรวมอีกครั้ง รวมถึงการอัพเดทหน่วยความจำ Translation Momory ในภายหลัง

 

Machine Translation คืออะไร

การแปลแบบ Machine Translation (MT) นั้นเป็นการใช้ซอฟท์แวร์เพียงอย่างเดียวเท่านั้นในการแปลจากภาษาต้นทางไปสู่ภาษาปลายทาง ซึ่งตัวที่เราคุ้นเคยกันมากที่สุดคือ Google Translate นั่นเอง

หลักการที่ใช้มี 2 รูปแบบคือ 1. ใช้หลักสถิติ โดยที่โปรแกรมจะทำการแปลต้นฉบับโดยยึดตามจำนวนครั้งในการเรียกดูข้อมูลจากฐานข้อมูลคำแปล 2. ใช้หลักด้านไวยากรณ์ กล่าวคือจะแปลต้นฉบับออกมาโดยยึดหลักไวยากรณ์เป็นสำคัญ ทั้งสองวิธีจะใช้เพียงซอฟท์แวร์เท่านั้นในการดำเนินการประมวลผลคำแปลออกมาให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้

แต่เป็นที่ทราบกันดีว่า ผลการแปลของ Google Translate นั้น ความถูกต้องแม่นยำมีเพียงร้อยละ 30-60 เท่านั้น ซึ่งอาจจะเหมาะกับงานแปลบางประเภทที่มิได้ต้องการความถูกต้องสมบูรณ์ของเนื้อหาปลายทางมากนัก อาทิ เช่น อีเมลโต้ตอบที่อาจเขียนมาเป็นภาษาสเปน เราสามารถใช้ Google Translate เพื่อแปลออกมาเป็นภาษาอังกฤษหรือภาษาไทยเพื่อทำความเข้าใจเนื้อหาในเบื้องต้น เท่านั้นได้

 

ประวัติของ MT

การใช้ MT นั้นเริ่มต้นขึ้นในยุคปี 1950 โดยทาง Georgetown ได้ทำการทดลอง Machine Translation ขึ้นในปี 1954 ซึ่งเป็นโปรเจ็กค์แรกๆ ที่จำเป็นต้องใช้ซอฟท์แวร์ช่วยแปลโดยอัตโนมัติ ในการทดลองครั้งนั้นภาษารัสเซีย 60 ประโยคได้ถูกแปลออกมาเป็นภาษาอังกฤษ และโครงการดังกล่าวถือว่าประสบความสำเร็จและนำไปสู่การได้เงินทุนเพื่อทำการวิจัยและพัฒนา Machine Translation ให้ดียิ่งขึ้นไปอีก

น่าเสียดายที่ การพัฒนาที่เกิดขึ้นจริงเป็นไปอย่างเชื่องช้า เมื่อผ่านไปได้หนึ่งทศวรรษ เม็ดเงินในการวิจัยเพิ่มเติมก็ถูกปฏิเสธในที่สุด กระทั่งทุกวันนี้ ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโลยีที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว นักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ก็ยังไม่สามารถสร้างเครื่องมือช่วยแปลที่สามารถแปลเอกสารได้โดยอัตโนมัติที่มีประสิทธิภาพ ทำงานได้อย่างรวดเร็ว หรือทำให้งานแปลมีความสมบูรณ์ถูกต้องเมื่อเทียบกับการใช้นักแปลที่เป็นมนุษย์จริงๆ

 

ข้อดีและข้อเสียของ MT

ข้อดี

  • หากมีเวลาหรืองบประมาณจำกัด คุณสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการช่วยแปลได้
  • ไม่มีค่าใช้จ่ายหรือจ่ายเงินเพียงเล็กน้อย

ข้อเสีย

  • แม้ว่างานแปลที่ได้จะออกมาได้อย่างรวดเร็วก็ตาม แต่การแก้ไขงานแปลโดยนักแปลที่จะต้องมานั่งตรวจสอบความถูกต้องของคำแปลนั้นอาจกินเวลาเป็นอย่างมาก และเป็นได้ว่าอาจจะต้องทำการแปลเอกสารเดิมใหม่ทั้งหมดอีกครั้ง อันทำให้เสียเวลาและค่าใช้จ่ายโดยใช่เหตุ
  • MT นั้นใช้กฎเกณฑ์ที่ตายตัวและขาดความยึดหยุ่น ซึ่งอาจจะเหมาะกับงานแปลต้นฉบับที่ตรงตัว มิใช่เอกสารต้นฉบับที่มีการประดิษฐ์คำหรือใช้ถ้อยคำที่มีความสละสลวยทางภาษามากกว่าปกติ ซึ่งถ้าหากต้นฉบับมีความซับซ้อนทางภาษาอาจทำให้ผลงานแปลที่ออกมาผิดพลาดได้เป็นอย่างมาก

คุณสัจจา
คุณสัจจา
ผู้ก่อตั้ง ผู้บริหารและผู้จัดการทั่วไปของศูนย์การแปลนานาชาติทีไอเอส ทรานสเลชั่น ผู้ที่มีประสบการณ์ในแวดวงการแปลมานับทศวรรษ คุณสัจจาเป็นผู้เชื่อในหลักการ "Lifelong Learning" การเรียนรู้ตลอดชีวิต รวมทั้งเป็นผู้ที่ชอบไขว่คว้าหาความรู้ด้านต่างๆ บนโลกออนไลน์อย่างไม่หยุดหย่อน